สะเก็ดเงิน โรคผิวหนังเรื้อรังที่ควรได้รับการดูแล

โรคสะเก็ดเงิน เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน และการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้นทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตและพัฒนาการของผิวหนังจึงไม่สมบรูณ์ อาการที่พบคือ เป็นปื้นนูนแดงปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเทาเงิน ผื่นแดงหนา เมื่อขูดลอกสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนัง มักพบบริเวณข้อศอก เข่า หลังส่วนล่าง และหนังศรีษะ ผื่นอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่กระจายทั่วร่างกาย สะเก็ดเงิน โรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ผิวหนังอย่างรวดเร็วกว่าปกติโดยการกระตุ้นของสารเคมีจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ชนิดเซลล์ที (T-cell) ทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดเป็นผื่นหนาขนาดใหญ่ มีลักษณะสีเงินและแดงที่ผิวหนังได้ทั่วร่างกาย โรคนี้สามารถเกิดได้ในคนทุกเพศทุกวัย

สาเหตุการเกิด สะเก็ดเงิน ยังไม่ทราบแน่ชัด คาดว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ อาการจากโรคสะเก็ดเงินอาจสร้างความรำคาญและส่งผลต่อบุคลิกภาพ ซึ่งทำให้ผู้ที่เป็นสูญเสียความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน การปรึกษาแพทย์ผิวหนังและดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยควบคุมและบรรเทาอาการของโรคสะเก็ดเงินได้ รวมทั้งทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

วิธีดูแลตัวเองเพื่อรักษาสะเก็ดเงิน

การรักษาสะเก็ดเงินอาจแตกต่างกันตามความรุนแรงของโรค หากความรุนแรงน้อยจะรักษาด้วยการใช้ยาทาผิว เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อนุพันธ์วิตามินดี และเรตินอยด์ (Retinoids) ควบคู่กับการดูแลตัวเองซึ่งจะช่วยให้อาการทุเลาลงได้ ดังนี้
1. การดูแลผิว
ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินควรดูแลผิวด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
– ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลหรืออาการบาดเจ็บที่ผิวหนัง เช่น แมลงกัดต่อย รอยถลอกขีดข่วน
– อาบน้ำอุ่นและใช้สบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว และการแช่น้ำอุ่นที่ผสมน้ำมันสำหรับอาบน้ำ ข้าวโอ๊ต หรือดีเกลือลงในอ่างอาบน้ำเป็นเวลา 5–15 นาทีจะช่วยลดผิวแห้งและคันได้ ควรอาบน้ำอุณหภูมิปกติ
– ซับผิวเบา ๆ ให้แห้งพอหมาด จากนั้นทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้นทุกครั้งหลังอาบน้ำ เพราะผิวที่แห้งจะยิ่งทำให้เกิดอาการคันมากขึ้นและทำให้ผิวหายช้าลง
– ไม่แกะหรือเกาบริเวณแผล หากรู้สึกคันให้ประคบเย็นซึ่งจะช่วยลดอาการคันได้
– สัมผัสแสงแดดอ่อน ๆ โดยรังสียูวี (UV) อาจช่วยชะลอการเติบโตของเซลล์ผิวและช่วยในการบรรเทาอาการสะเก็ดเงิน ทั้งนี้ หากแดดจ้าควรทาครีมกันแดดและหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแสงแดดจัดเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ผิวไหม้แดด ซึ่งทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินรุนแรงขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง

2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
อาหารอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในร่างกายและทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินกำเริบขึ้นได้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ ธัญพืชขัดสีน้อย ผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ปลาทะเล ถั่วและเต้าหู้ที่มีโปรตีนสูง รวมทั้งน้ำมันมะกอกและน้ำมันมะพร้าวที่มีโอเมก้า 3 และ 6 ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบในร่างกายอาจช่วยรักษาสะเก็ดเงินให้ดีขึ้นได้

ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินอาจหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดง โดยเฉพาะเนื้อวัว เนื้อสัตว์แปรรูป ไข่ นม อาหารที่มีกลูเตน (Gluten) เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และมอลต์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ น้ำตาล และโซเดียมสูง

3. พักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้ป่วยสะเก็ดเงินมักมีอาการคันหรือเจ็บผิวหนังจนไม่สามารถหลับได้ อย่างไรก็ตาม การพักผ่อนไม่เพียงพออาจกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและทำให้อาการของโรคสะเก็ดเงินรุนแรงขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดความเครียดและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งวิธีที่ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ได้แก่
– การออกกำลังกายเป็นประจำ
– ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรม เช่น เล่นโยคะ นั่งสมาธิ
– หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารปริมาณมากและการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนเข้านอน
– เข้านอนให้เป็นเวลาทุกคืน
– เลือกสวมชุดนอนที่นุ่มสบาย และทาครีมบำรุงผิวเพิ่มความชุ่มชื้นก่อนนอน ซึ่งช่วยให้รู้สึกสบายผิวและนอนหลับได้ดีขึ้น

4. ไปพบแพทย์ตามนัด
การรักษาสะเก็ดเงินเป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาวเพื่อควบคุมไม่ให้อาการของโรคกำเริบขึ้นอีก ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์ผิวหนังทุกครั้งตามที่นัดหมาย และปฏิบัติตามวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะผู้ป่วยสะเก็ดเงินอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคตา โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันได้